หากจะพูดถึงปัญหาที่มากับการใช้เหล็กทำโครงสร้าง แน่นอนว่าเรื่องการเกิด 'สนิม' คงเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลใจ ยิ่งหากไม่มีการป้องกันเหล็กที่ดีก็สามารถก่อให้เกิดสนิมได้ง่ายขึ้น จนอาจทำให้เกิดความเสียหายมากมายตามมา ดังนั้น การป้องกันด้วยสีกันสนิมจึงเป็นขั้นตอนการเตรียมผิวเหล็กที่สำคัญ หากใส่ใจตั้งแต่แรกก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความชื้นที่ส่งผลต่อการเกิดสนิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักกับขั้นตอนการทาสีกันสนิมให้มากขึ้น
รู้ก่อนทำ! ข้อดีการทาสีกันสนิมเหล็ก
ช่วยป้องกันการเกิดสนิม
ข้อดีที่สำคัญที่สุดของการทาสีกันสนิม คือคุณสมบัติในการป้องกันสนิมเหล็ก เพราะสนิมเป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างเหล็กกับออกซิเจนและความชื้นในอากาศ การทาสีกันสนิมจะช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กต้องสัมผัสกับออกซิเจนและความชื้นในอากาศโดยตรง จึงช่วยป้องกันการเกิดสนิมได้
ยืดอายุการใช้งานของเหล็ก
เนื่องจากการทาสีกันสนิมเหล็กมีข้อดีในการป้องกันสนิม จึงทำให้เหล็กไม่เสื่อมสภาพและไม่เปราะหักง่าย จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของเหล็กให้ยาวนานขึ้น
เพิ่มความสวยงาม
สีทากันสนิมมีมากมายหลากหลายสีให้เลือกสรร ทำให้สามารถเลือกสีให้เข้ากับงาน หรือพื้นที่ที่ต้องการได้ นอกจากนี้ สีทากันสนิมบางชนิดยังมีส่วนผสมของสารสะท้อนแสง ทำให้พื้นผิวเหล็กดูพรีเมียมเงางาม
ประเภทการทาสีรองพื้น
ติดตั้งโครงสร้างก่อนทาสีรองพื้น
การติดตั้งโครงสร้างก่อนทาสีรองพื้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะอาจได้รับความเสี่ยงจากความชื้นและอากาศ เนื่องจากอาจต้องตั้งเหล็กให้ฐานแข็งแรงอยู่ก่อน 1-2 เดือนหลังติดตั้งโครงสร้าง ทำให้อากาศและความชื้นเข้าไปจับกับเหล็กโดยตรงโดยไม่มีสีรองพื้นป้องกันไว้ในช่วงเวลานั้น
ทาสีรองพื้นก่อนการติดตั้ง
การทาสีรองพื้นป้องกันสนิมก่อนจะทำการติดตั้ง เป็นหนึ่งในวิธียอดนิยมที่มักใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความชื้นได้มากกว่าการติดตั้งโครงสร้างก่อนการทาสี ซึ่งหากมีการเตรียมผิวเหล็กในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมร่วมกับกระบวนการที่ได้มาตรฐาน ก็จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงจากความชื้นที่จะส่งผลให้เหล็กเกิดสนิมได้ง่าย
ขั้นตอนการทาสีกันสนิม
การเตรียมพื้นผิวเหล็กก่อนทาสีกันสนิมเหล็ก
เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำความสะอาดผิวเหล็กให้ปราศจากคราบสนิม คราบสกปรก หรือฝุ่นผงต่าง ๆ โดยจะต้องทำในขณะที่ผิวของชิ้นงานไม่มีความชื้นสะสมมากจนเกินไป โดยมีขั้นตอนสำหรับการเตรียมผิว ดังนี้
• การเตรียมพื้นผิวในระดับคุณภาพสูง สามารถทำได้โดยการพ่นทรายให้ได้ตามมาตรฐาน SSPC-SP10/SIS Sa2.5/NACE No.2/ISO 8501:1
• การเตรียมพื้นผิวในระดับคุณภาพปานกลาง สามารถทำได้โดยการขัดด้วยเครื่องขัดกระดาษทราย หรือเครื่องขัดลวดทองเหลืองให้ได้ตามมาตรฐาน SSPC-SP3
• การเตรียมพื้นผิวในระดับคุณภาพทั่วไป สามารถทำได้โดยการขัดด้วยกระดาษทราย หรือแปรงลวด แล้วเช็ดทำความสะอาดให้ได้ตามมาตรฐาน SSPC-SP2
หากต้องการทาสีกันสนิมทับผิวที่ผ่านการใช้งานจนเกิดสนิมมาแล้วและฟิล์มสีเดิมเกิดเสื่อมสภาพเสียการยึดเกาะ ให้ทำการขัดด้วยเครื่องขัดกระดาษทราย หรือเครื่องขัดลวดทองเหลืองให้ได้ตามมาตรฐาน SSPC-SP3 เพื่อกำจัดสนิมและฟิล์มสีเดิมที่เสื่อมสภาพออกไปให้มากที่สุด ให้เหมาะสำหรับการเตรียมผิวเพื่อทาสีกันสนิม
การทาหรือพ่นสีรองพื้นป้องกันสนิม
เมื่อเตรียมพื้นผิวเหล็กจนพร้อมสำหรับการลงสีแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของการลงสีรองพื้นกันสนิม ซึ่งการจะทำให้ได้มาตรฐาน จะต้องวัดความชื้นของชิ้นงานให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเสียก่อน โดยความชื้นต้องไม่เกิน 85% RH อุณหภูมิของพื้นผิวต้องสูงกว่า 10°C และสูงกว่าจุดน้ำค้างอย่างน้อย 3°C เพื่อป้องกันการเกิดหยดน้ำบนพื้นผิว ซึ่งส่งผลต่อการยึดเกาะและการแห้งแข็งของฟิล์มสีได้
ก่อนถึงขั้นตอนการทาสีกันสนิม จำเป็นต้องสังเกตให้ดีก่อนว่าพื้นผิวเหล็กที่ต้องการทาสีกันสนิมเป็นอย่างไร ผ่านการเคลือบกันสนิมมาแล้วหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เราเลือกใช้สีกันสนิมได้ง่ายและเหมาะสมกับพื้นผิวมากขึ้น เพื่อให้การใช้งานสีกันสนิมมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีวิธีการทาสีที่เหมาะสมกับเหล็กแต่ละประเภท ดังนี้
• เหล็กใหม่ที่ยังอยู่ในสภาพดี ไม่มีสนิม
1.หลังจากการเตรียมพื้นผิวเหล็กให้สะอาด ให้ทาสีรองพื้นกันสนิมจำนวน 1-2 รอบ โดยศึกษาวิธีการใช้งานข้างบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน เนื่องจากสีรองพื้นกันสนิมในแต่ละรุ่นมีระยะเวลารอแห้งแตกต่างกันออกไป
2.เริ่มทาสีจริง โดยใช้รุ่นเดียวกันกับสีรองพื้น ซึ่งการทาสีทับหน้าจะต้องทาจำนวน 2 รอบ แต่ละรอบจะใช้ระยะเวลารอสีแห้งประมาณ 6-8 ชั่วโมง
• เหล็กมีสนิมที่ยังใช้งานได้ดี
1. ใช้กระดาษทรายขัดสนิมจุดที่พุพองรุนแรง หรือไม่ยึดติดเป็นเนื้อเดียวกับผิวเหล็กออกจนหมด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วรีบทาสีกันสนิมภายในเวลา 4 ชั่วโมง
2. ใช้สีรองพื้นที่มีคุณสมบัติหยุดสนิมทันที มาทาเป็นสีรองพื้นกันสนิมจำนวน 1-2 รอบ
3. เริ่มทาสีจริง หรือใช้สีทาทับหน้า ซึ่งมีทั้งแบบเงา กึ่งเงา และสีน้ำมันเคลือบด้าน โดยการทาสีทับหน้าจะต้องทาจำนวน 2 รอบ แต่ละรอบจะใช้ระยะเวลารอสีแห้งประมาณ 6-8 ชั่วโมง
• เหล็กกัลวาไนซ์ หรือเหล็กชุบซิงค์
1. เตรียมพื้นผิวเหล็กกัลวาไนซ์ หรือเหล็กชุบซิงค์ โดยการเช็ดทำความสะอาด ไม่ให้มีเศษฝุ่น ผงสนิม หรือคราบไข
2. เลือกใช้สีกันสนิมที่เหมาะสมกับเหล็กกัลวาไนซ์ หรือเหล็กชุบซิงก์ ทาอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
หลังจากอ่านบทความนี้ หลายคนคงได้รู้จักการเตรียมผิวเหล็กกันมากขึ้น! แต่หากอยากลดปัญหาหนักใจจากการเกิดสนิมตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการใช้เหล็กที่มีคุณภาพ โลหะเจริญค้าเหล็กพร้อมจำหน่ายเหล็กโครงสร้าง เหล็กเอชบีม (H-Beam) ในราคาคุ้มค่า จาก SYS PRIMERBOND ที่ผลิตภายในโรงงานผ่านการควบคุมที่ได้รับมาตรฐานทุกขั้นตอน จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างเหล็กจะได้รับความเสี่ยงจากความชื้นที่น้อยลงระหว่างการปฏิบัติงาน ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สั่งซื้อสินค้า หรือรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของเรา ติดต่อได้ที่เบอร์ 02-291-5050-8 และ LINE Official @lohah
ข้อมูลอ้างอิง
- การเตรียมผิวเหล็กและทำสีรองพื้นป้องกันสนิมก่อนการติดตั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากความชื้นที่หน้างาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จาก https://www.hbeamconnect.com/blog/steel-surface-preparation-and-anodization-to-prevent-rust/
- เหล็กจะกันสนิมได้ดีและมีสีติดทนยิ่งขึ้น หากใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมผิวก่อนทำสี. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จาก https://www.hbeamconnect.com/blog/why-surface-preparation-is-important-for-preventing-rust/
- SYS PRIMERBOND (ไพรเมอร์บอนด์) เหล็กพร้อมทำสีรองพื้นกันสนิม. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จาก https://www.syssteel.com/sys-primerbond-steel-with-anti-corrosion-system/